ไข้หวัดนก เป็น มหันตภัย ที่คุกคามทั้งสุขภาพพลานามัยของผู้คนและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศโดยแท้ ที่พูดถึงขนาดนี้ ก็เพราะไทยเราส่งออกไก่มากเป็นอันดับ 3 ของโลกรองลงมาจากสหรัฐอเมริกาและบราซิล มีมูลค่าการส่งออกมาถึงปีละ 40,000-50,000 ล้านบาท หรือในราว 3,300-4,100 ล้านบาทต่อเดือน และเจ้าไก่นี่ละ ที่ถือเป็นพระเอก ของโครงการครัวของโลกของบ้านเรา เพราะการส่งออกไก่ถือเป็นอันดับ 1 ของการส่งออกอาหารทั้งหมดของเรา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้คาดว่าสถานการณ์ไข้หวัดนก จะทำให้ยอดส่งออกไก่ลดลงถึงเดือนละ 3,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

นอกจากนี้โรคไข้หวัดนกยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนหวาดวิตกเทขายหุ้นกลุ่มแบงก์พาณิชย์ วัสดุก่อสร้าง พลังงานและไฟแนนซ์ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีหุ้น (ในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้) ปรับตัวลงถึง 17.54 จุด และมูลค่าการซื้อขายเหลือเพียง 23,175.02 ล้านบาท และคาดกันว่าข่าวการระบาดของไข้หวัดนกจะยังเป็นปัจจัยชี้นำนักลงทุนต่อไปอีกสักระยะ

ส่วนสถานการณ์ความรุนแรงของการระบาดในไทยที่เริ่มจาก 2 จังหวัดในเดือนธันวาคม จนกลายมาเป็น 13 จังหวัด ในวันที่ 27 ม.ค. แล้วก็ลุกลามในชั่วข้ามคืนเป็น 25 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพ ฯ ในวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา คงต้องยอมรับกันว่าไข้หวัดนกเป็นไข้ที่ ‘ติดปีก’ สมชื่อจริง ๆ ด้วยเหตุผลของความรุนแรงและรวดเร็วในการระบาดดังกล่าว ซึ่งไม่เพียงแต่ในไทยเท่านั้น หากยังพบการระบาดในอีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ เวียดนาม อินโดนีเซีย จีน ลาว ปากีสถาน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และกัมพูชา ทำให้สามองค์กรสหประชาชาติ ได้แก่ องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและเกษตรกรรมของสหประชาชาติ (FAO) และองค์การโรคระบาดสัตว์โลก (OIE) ต้องออกมาแถลงการณ์ร่วมกันในวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเตือนว่าการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดนกในภูมิภาคเอเชียในเวลานี้ เป็นงานที่ท้าทายความสามารถในการควบคุมโรคดังกล่าว แล้วยังส่งผลคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพชีวิตของประชาชนทั่วโลก จึงได้ร่วมกันกำหนดให้ไข้หวัดนกเป็นโรคที่มีการระบาดในขั้นอันตราย

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ไทยในฐานะ ‘พี่เบิ้ม’ แห่งวงการส่งออกไก่เอเชีย จะอาสาเป็นเจ้าภาพถกปัญหาไข้หวัดนก ระหว่างประเทศ ในวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการประสานกับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเขตเศรษฐกิจที่มีปัญหาร่วมกันเช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และกลุ่มลูกค้าและผู้เชี่ยวชาญเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพราะไม่ใช่ปัญหาของประเทศแต่ประเทศเดียว

การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมในระดับรัฐมนตรี โดยกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มแรก ประเทศหรือเขตเศรษฐกิจที่มีปัญหาร่วมกันในเรื่องไข้หวัดนก อันได้แก่ เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน กัมพูชา และเกาหลีใต้ ส่วนกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มผู้ที่เป็นลูกค้าและผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ประกอบด้วย สิงคโปร์ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและเกษตรกรรมของสหประชาชาติ (FAO)

และหลังเสร็จสิ้นการประชุม ในเวลาประมาณ 18.00 น. ก็ได้มีการแถลงข่าวจาก นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเข้าร่วมทั้ง 13 เขตเศรษฐกิจ ร่วมอยู่ในห้องแถลงข่าวด้วย โดยนายสุรเกียรติ์ กล่าวว่า ที่ประชุมเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาทั้งจากภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนให้กลับคืนมา โดยตกลงให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่โปร่งใสระหว่างกัน และมีมาตรการที่เข้มงวด รวมทั้งปรับปรุงขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนา

นอกจากนี้ ทุกประเทศจะดำเนินมาตรการภายใน ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและเกษตรกรรมของสหประชาชาติ (FAO) และองค์การโรคระบาดสัตว์โลก (OIE) โดยจะมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทั้ง 3 หน่วยงานดังกล่าว และจะมีการสร้างเครือข่ายในการควบคุมโรคในสัตว์ รวมถึงเครือข่ายในการควบคุมโรคจากคนสู่คน ตลอดจนสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา ในเรื่องการระบาดของโรคจากสัตว์สู่คน เช่น การพัฒนายาและวัคซีนป้องกันโรค รวมถึงการเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือทางวิชาการ จากประเทศที่มีโรคไข้หวัดนกระบาด

ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า การกำจัดต้นตอของเชื้อโรคเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วนในช่วงเวลานี้ เพื่อยุติการแพร่ระบาดของเชื้อโรคลงโดยเร็วและไทยเราก็ได้รับการยอมรับนับถือจากนานาประเทศว่าได้ดำเนินการตามมาตรการสูงสุดของ OIE และ FAO นั่นก็คือกำจัดสัตว์ปีกในรัศมี 5 กม. จากจุดที่ตรวจพบเชื้อ (พื้นที่สีแดง) เฝ้าระวังและห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกในรัศมี 50 กม. จากจุดที่ตรวจพบเชื้อ (พื้นที่สีเหลือง) และหากสุ่มตรวจทุก 7 วัน จนครบ 21 วันแล้วไม่พบเชื้อก็จะประกาศให้เป็นพื้นที่สีเขียว แต่ก็ยังคงต้องเฝ้าระวังและห้ามเลี้ยงสัตว์ปีกชุดใหม่อยู่ดีจนกว่าจะครบ 90 วันหลังสัตว์ปีกตัวสุดท้ายตาย หลังจากนั้นจึงจะเลี้ยงสัตว์ปีกชุดใหม่ได้ ซึ่งก็นับว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในการเรียกความเชื่อมั่นจากกลุ่มประเทศผู้นำเข้าไก่จากบ้านเรา เพราะตอนนี้ทางญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำเข้าไก่อันดับ 1 ของไทย ก็อนุญาตให้นำไก่สุก และไก่กึ่งสุกเข้าจากไทยแล้ว

โดยส่วนตัวของผู้เขียนเองแล้ว มีความเห็นว่าไก่ที่ส่งออก ไม่น่ากลัวเท่าไหร่ เพราะกว่าจะ ‘ผ่านด่าน’ ไปส่งออกกันได้ ผู้ส่งออกก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบมาตรฐานกันจนมั่นใจนั่นละว่า ไก่ที่ส่งออกไป ปลอดภัยไร้โรคจริง ๆ และโดยส่วนใหญ่ ไก่ที่เราส่งออกก็เป็นไก่ฟาร์ม ซึ่งเลี้ยงในระบบปิด มีมาตรฐานความสะอาดค่อนข้างสูงมาก (อย่างที่เห็นในภาพยนตร์โฆษณาของบริษัทผู้ส่งออกยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งนั่นแล) ที่น่าเป็นห่วงจริง ๆ คงเป็นไก่บ้าน ไก่พื้นเมือง และไก่ที่ขายตามท้องตลาดมากกว่า เพราะไม่รู้ว่ามาจากไหน เป็นโรคตายก่อนเอามาขายหรือไม่ ซึ่งตามข้อมูลที่ทางกรมปศุสัตว์ออกมาแถลงสด ๆ ร้อน ๆ ก็ระบุว่าไก่ที่ตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกโดยส่วนใหญ่จะเป็นไก่พื้นเมือง หรือไก่บ้านที่เราเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินเอง หรือที่ภาษาวิชาการเขาเรียกว่าเลี้ยงในระบบเปิดนั่นเอง

วันนี้ก็เลยได้นำเอา แนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก ของกระทรวงสาธารณสุขมาฝากกัน แต่ก่อนจะไปถึงแนวทางที่ว่า ก็ขอกล่าวถึงความเป็นมา สาเหตุ และอาการของโรคนี้สักเล็กน้อย เพื่อความเข้าใจ จะได้ไม่วิตกจริตจนเกินเหตุ เมื่อพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการเป็นไข้ไม่สบายในช่วงนี้นั่นเอง

1. เชื้อโรคไข้หวัดนก

โรคไข้หวัดนก หรือ BIRD FLU เป็นโรคติดต่อของสัตว์ประเภทนก เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ที่พบในนก ซึ่งเป็นแหล่งรังโรคในธรรมชาติ ตามปกติโรคนี้ติดต่อมายังคนได้ไม่ง่ายนัก แต่คนที่สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ที่เป็นโรคอาจติดเชื้อได้ มีรายงานการเกิดโรคในคนครั้งแรกในปี 2540 เมื่อเด็กชายชาวฮ่องกงวัย 3 ขวบ เสียชีวิตด้วยไข้หวัดใหญ่อย่างกระทันหันจากการติดเชื้อไวรัสไก่ ในคราวที่เกิดโรคระบาดของสัตว์ปีกในฮ่องกง

ไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza หมายถึง โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Influenza ในตระกูล Orthomyxoviridae ซึ่งเป็น RNA ไวรัสชนิดมีเปลือกหุ้ม (Envelope) โดยมี Surface Antigens ที่สำคัญ ได้แก่ Hem agglutinin (H) มี15 ชนิด และ Neuraminidase (N) มี 9 ชนิด เชื้อไวรัส Influenza แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่ม A : แบ่งย่อยเป็นหลาย Subtypes ตามความแตกต่างของ H และ N Antigens พบในคนและสัตว์ชนิดต่าง ๆ ดังนี้

  • คน ปกติพบ 3 ชนิดได้แก่ H1N1, H2N2, H3N2 ส่วน H5N1 หรือไข้หวัดนกนั้นเพิ่งพบเป็นครั้งแรกในปี 2540 ตามที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้น
  • สุกร พบ 3 ชนิดได้แก่ H1N1, H1N2 และ H3N2
  • ม้า พบ 2 ชนิดได้แก่ H3N8 และ H7N7
  • สัตว์ปีก พบทุกชนิดได้แก่ H1-15 และ N1-9
กลุ่ม B : ไม่มี Subtype พบเฉพาะในคน
กลุ่ม C : ไม่มี Subtype พบในคนและสุกร

เชื้อไวรัสนี้มีเปลือกหุ้มจึงถูกทำลายได้ง่ายด้วยความร้อน (เช่น ที่อุณหภูมิ 56๐C นาน 3 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 60๐C นาน 30 นาที เป็นต้น) และสารเคมีต่าง ๆ เช่น สารที่มีคุณสมบัติในการละลายไขมัน (Lipid Solvents), ฟอร์มาลีน (Formalin), Betapropiolactone, Oxidizing Agents, Sodium Dodecylsulfate, Hydroxylamine, Ammonium Ions และ Iodine Compounds แต่เชื้อนี้สามารถคงอยู่ได้นานในสิ่งขับถ่าย เช่น น้ำมูก น้ำตา น้ำลาย เสมหะ อุจจาระ เป็นต้น

แถมเชื้อนี้ยังสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงทาง Antigenicity ได้ง่าย โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่ยีนเพียงเล็กน้อย (Antigenic Drift) หรือมีการเปลี่ยนยีนในกรณีที่เซลล์มีการติดเชื้อ 2 Subtype ที่แตกต่างกัน กลายเป็น Subtype ใหม่ (Antigenic Shift) พูดง่าย ๆ ว่ามันกลายพันธุ์ได้นั่นเอง

การติดเชื้อในสัตว์ปีก (Avian Influenza) แบ่งออกเป็น
1. Apathogenic and Mildly Pathogenic Avian Influenza เป็นชนิดที่ไม่แสดงอาการ และที่ทำให้มีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย พบได้ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอาจมีสาเหตุจากเชื้อชนิด H1-15
2. Highly Pathogenic Avian Influenza (HPAI) หรือเดิมเรียกว่า Fowl Plague เป็นชนิดที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงมากมีอัตราการตายสูง มีรายงานการระบาดในบางประเทศเท่านั้น เช่น สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ประเทศยุโรป ออสเตรเลีย ฮ่องกง และปากีสถาน ในประเทศไทยไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้ แม้ว่าจะเป็นโรคในพระราชบัญญัติโรคสัตว์ พ.ศ.2499 ก็ตาม

ความแตกต่างของ Basic Amino Acids (Lysine, Arginine) ระหว่างเชื้อชนิดไม่รุนแรงและชนิดรุนแรงมากนี่เอง ที่ทำให้ความสามารถในการเจริญเติบโตของเชื้อในร่างกายสัตว์แตกต่างกัน เชื้อชนิดไม่รุนแรงสามารถเจริญได้ในเซลล์ของทางเดินหายใจ และทางเดินอาหารเท่านั้น แต่เชื้อชนิดรุนแรงมากสามารถเจริญในเซลล์อวัยวะอื่น ๆ ได้ จึงทำให้เกิดอาการป่วยอย่างรุนแรง การแพร่เชื้อจากสัตว์ที่ติดเชื้อทางสิ่งขับถ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะทางอุจจาระของนกเป็ดน้ำ ซึ่งมักเป็นตัวอมเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ (หรือที่ศัพท์วิชาการเรียกว่า ‘แหล่งรังโรค’) ทำให้มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำได้เป็นเวลานาน ซึ่งจากการระบาดครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.1983-1984 ได้มีรายงานการพบเชื้อทั้งที่เปลือกไข่และภายในไข่จากแม่ไก่ที่ติดเชื้อ

การติดต่อในสัตว์เกิดขึ้นได้ทั้งทางตรงโดยการสัมผัสกับสัตว์ป่วยและสิ่งขับถ่ายจากสัตว์ป่วย และทางอ้อมจากเชื้อที่ปนเปื้อนในน้ำ อาหาร เสื้อผ้า รองเท้า พาหนะ และอื่น ๆ ระยะการฟักตัวของโรคอาจสั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงจนถึง 3 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ วิธีการที่ได้รับเชื้อ จำนวนเชื้อ และชนิดของสัตว์ ส่วนอาการของโรคจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดสัตว์ อายุ สภาวะความเครียด โรคแทรกซ้อน และอื่น ๆ เชื้อที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงในสัตว์ปีกชนิดหนึ่งอาจไม่ทำให้เกิดอาการใด ๆ ในสัตว์ปีกอีกชนิดหนึ่ง

อาการที่พบโดยทั่วไป ได้แก่
  • ซูบผอม ซึมมาก ไม่กินอาหาร ขนยุ่ง ไข่ลด
  • ไอ จาม หายใจลำบาก น้ำตาไหลมาก หน้าบวม หงอนมีสีคล้ำ
  • อาจมีอาการของระบบประสาท และท้องเสีย
  • รายที่รุนแรงจะตายกระทันหันโดยไม่แสดงอาการ (อัตราตายอาจสูงถึง 100%)

ส่วนลักษณะผิดปกติที่พบ จะขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ ชนิดสัตว์ และปัจจัยอื่น ๆ เช่นเดียวกัน ในรายที่รุนแรงและตายทันทีอาจไม่พบลักษณะผิดปกติใด ๆ ลักษณะผิดปกติที่มักพบในไก่และไก่งวง ได้แก่

  • ซากผอมแห้ง
  • มีการบวมน้ำใต้ผิวหนังที่ส่วนหัวและคอ
  • ตาอักเสบบวมแดง และอาจมีจุดเลือดออก
  • หลอดลมอักเสบรุนแรงมีเมือกมาก
  • มีจุดเลือดออกที่กระเพาะแท้ โดยเฉพาะตรงรอยต่อกับกึ๋น
  • มีการลอกหลุดและจุดเลือดออกที่ผนังของกึ๋น
  • ไตบวมแดงและอาจพบยูเรตที่ท่อไต
สำหรับโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกัน มีดังนี้
  • อหิวาต์ไก่ชนิดรุนแรง
  • นิวคาสเซิล
  • กล่องเสียงและหลอดลมอักเสบติดต่อ
  • การติดเชื้อมัยโคพลาสม่า และแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ

นอกจากนกเป็ดน้ำแล้ว สัตว์รังโรคโดยธรรมชาติ ก็ได้แก่บรรดานกอพยพ และนกตามธรรมชาติทั้งหลายนั่นเอง ส่วนเป็ด ไก่ในฟาร์มและในบ้านสามารถติดเชื้อและแสดงอาการป่วยได้

2. วิธีการติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน

คนสามารถติดเชื้อจากสัตว์ได้ทั้งทางตรงจากการสัมผัสสัตว์ป่วยโดยตรง และทางอ้อมจากการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งจากสัตว์ที่เป็นโรคเช่นอุจจาระ น้ำมูก น้ำตา น้ำลายของสัตว์ป่วย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีรายงานการติดต่อโรคนี้ระหว่างคนสู่คน

3. การควบคุมการระบาดของโรค  
3.1 มาตรการสำหรับฟาร์มไก่พื้นเมือง
  • ควบคุมการเข้า-ออก ของคน สัตว์ ไม่ให้ยานพาหนะและคน โดยเฉพาะรถรับซื้อไก่ รถรับซื้อไข่ รถรับซื้อขี้ไก่ รวมถึงคนรับซื้อไก่ ไข่ หรือ ขี้ไก่เข้ามาในฟาร์ม หรือบริเวณบ้าน
  • งดซื้อไก่จากพื้นที่อื่น ๆ เข้ามาเลี้ยง
  • รักษาความสะอาดในโรงเรือน ทำโรงเรือนแบบปิด หรือใช้ตาข่ายคลุม และกำจัดเศษอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์อื่น รวมทั้งนก หนูเข้ามาในโรงเรือน เพราะอาจนำเชื้อโรคเข้ามาในฟาร์ม
  • ไม่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะเช่นแม่น้ำลำคลอง เลี้ยงไก่ หากจำเป็นให้ผสมยาฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน
  • หากมีไก่ป่วยหรือตายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที ไม่นำไก่ที่ป่วยหรือตายออกมาจำหน่าย อย่าทิ้งซากสัตว์ลงในแหล่งน้ำ หรือที่สาธารณะ ต้องกำจัดทิ้งโดยการเผา หรือฝังในหลุมลึกไม่น้อยกว่า 5 เมตร ณ จุดเกิดโรค รวมทั้งมูลไก่ ไข่ และอาหารสัตว์ด้วย แล้วราดด้วยด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
  • ก่อนเข้าไปในฟาร์ม สัมผัสสัตว์ป่วย ซากสัตว์ที่ตาย หรือทำลายสัตว์ ควรสวมผ้าพลาสติกกันเปื้อน ผ้าปิดปาก จมูก ถุงมือ หมวก หลังเสร็จงานรีบอาบน้ำด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้ง เสื้อผ้าที่ใช้แล้ว พลาสติก หรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือต้องถอดทิ้ง หรือนำไปซักหรือล้างให้สะอาดก่อนนำมาใช้อีก
  • ทำลายเชื้อโรคในพื้นที่ที่เกิดโรคระบาดโดยการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในบริเวณฟาร์ม กรง เล้า พื้นคอก และรอบ ๆ เช้า เย็น ทุกวัน
3.2 มาตรการสำหรับฟาร์มไก่เนื้อและไก่ไข่
  • ห้ามนำยานพาหนะต่าง ๆ โดยเฉพาะรถส่งอาหารไก่ รถรับซื้อไก่ รถรับซื้อไข่ หรือ รถรับซื้อขี้ไก่ เข้ามาในฟาร์ม หรือบริเวณบ้านโดยไม่จำเป็น หากต้องเข้าฟาร์มต้องใช้ยาฆ่าเชื้อโรคฉีดพ่นยานพาหนะทุกครั้งก่อนเข้า และออกจากฟาร์ม
  • ป้องกันเชื้อโรคที่ปนเปื้อนคนที่เข้าออกฟาร์ม โดย
  • ห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าฟาร์มโดยไม่จำเป็น
  • บุคคลที่ต้องเข้า-ออกฟาร์ม ต้องจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม และให้เปลี่ยนรองเท้าของฟาร์มที่เตรียมไว้
  • ไม่ควรเข้าไปในฟาร์มอื่นเพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคจากฟาร์มอื่นเข้ามาในฟาร์ม
  • รักษาความสะอาดในโรงเรือน ทำโรงเรือนแบบปิด หรือใช้ตาข่ายคลุม และกำจัดเศษอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์อื่น ๆ รวมทั้งนก หนูเข้ามาในโรงเรือน เพราะอาจนำเชื้อโรคเข้ามาในฟาร์ม
  • ป้องกันเชื้อโรคที่ปนเปื้อนไข่ และถาดไข่ในฟาร์มไข่ไก่โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่ไข่และถาดไข่ทุกครั้งที่นำเข้าฟาร์ม
  • หากมีไก่ป่วยหรือตายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันทีเพื่อรับซื้อไก่ที่เหลือในฟาร์มและปฏิบัติตามคำแนะนำของปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อมาสู่สัตว์อื่น ไม่นำไก่ที่ป่วยหรือตายออกมาจำหน่าย อย่าทิ้งซากสัตว์ที่ตายลงในแหล่งน้ำ หรือที่สาธารณะ ต้องกำจัดทิ้งโดยการเผา หรือฝังในหลุมลึกไม่น้อยกว่า 5 เมตร ณ จุดเกิดโรค รวมทั้งมูลไก่ ไข่ และอาหารสัตว์ แล้วราดด้วยด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
3.3 ผู้รับซื้อสัตว์ปีก
  • ต้องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ตัวรถ ล้อรถ และกรงใส่สัตว์ปีกให้ทั่วถึงทุกซอกทุกมุม หลังจากนำสัตว์ปีกส่งโรงฆ่าแล้ว
  • เมื่อซื้อสัตว์ปีกที่ใดแล้ว ไม่ควรแวะซื้อที่อื่นอีก หากจำเป็นไม่ควรควรนำยานพาหนะเข้าไปในฟาร์ม และต้องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่เสื้อผ้า รองเท้าและตัวคนจับสัตว์ปีก
  • อย่าซื้อสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย หรือสัตว์ปีกจากฟาร์มที่มีสัตว์ปีกตายมากผิดปกติ
3.4 โรงฆ่าสัตว์ปีก
  • ต้องงดซื้อสัตว์ปีกป่วยเข้าฆ่า
  • ถ้ามีสัตว์ปีกตายให้ทำลายด้วยการฝัง เผา ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่บริเวณโรงฆ่า ทุกซอกทุกมุมหลังเสร็จสิ้นการฆ่าสัตว์ปีกทุกครั้ง
  • หากพบสัตว์ปีกหรือเครื่องในมีความผิดปกติให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์โดยเร็ว
4. วิธีการทำลายเชื้อ
4.1 ยานพาหนะ
  • ใช้น้ำฉีดแรงดันสูงเพื่อทำความสะอาดของยานพาหนะ
  • พ่นยาฆ่าเชื้อบนรถและล้อรถด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มฟอร์มัลดีไฮด์ กลุ่มกลูตาราลดีไฮด์ กลุ่มควอเตอร์นารีแอมโมเนียม กลุ่มฟีนอล หรือสารประกอบคลอรีน
4.2 วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ในโรงเรือน แช่อุปกรณ์ต่าง ๆ ในน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มคลอรีน กลุ่มควอเตอร์นารีแอมโมเนียม กลุ่มฟีนอลหรือกลุ่มกลูตาราลดีไฮด์
4.3 โรงเรือน ฉีดพ่นบริเวณโรงเรือนและรอบโรงเรือนทุกวัน เช้า-เย็น ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเช่นเดียวกับที่ใช้ฉีดพ่นยานพาหนะ
4.4 ถาดไข่
  • แช่ถาดไข่ในน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มน้ำสบู่เข้มข้น ผงซักฟอก สารประกอบคลอรีน สารประกอบควอเตอร์นารีแอมโมเนียมหรือสารประกอบฟีนอล เป็นระยะเวลานาน 10-30 นาที หรือ
  • รมควันถาดไข่ในห้องแบบปิด หรือใช้ผ้าพลาสติกคลุม โดยใช้ฟอร์มาลีน 40 % ผสมกับด่างทับทิม ในอัตราส่วนฟอร์มาลีน 50 มล. ต่อ ด่างทับทิม 10 กรัม ในพื้นที่ขนาด 2 x 2 x 2 เมตร เป็นระยะเวลา 24 ชม.
4.5 ไข่
  • จุ่มไข่ในน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มไฮโปคลอไรด์ หรือสารประกอบฟีนอล
  • รมควันโดยใช้วิธีเดียวกับถาดไข่
5. การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก

แม้จะไม่เคยปรากฏหลักฐานว่ามีการแพร่เชื้อจากคนสู่คนในอดีตที่ผ่านมา แต่นักการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หากเชื้อไข้หวัดนกในคนเกิดการกลายพันธุ์อันเนื่องมาจากการผสมสารพันธุกรรมกับไข้หวัดที่พบในคน (Reassortment) ก็อาจจะเกิดการติดต่อจากคนสู่คนได้ ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก (Pandemic) จึงได้มีมาตรการทางด้านการเฝ้าระวังโรค โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายของการระวังโรคเป็น 3 ระดับดังนี้

5.1 ผู้ป่วยที่สงสัย (Suspect) ได้แก่ ผู้ที่มีอาการหรืออาการแสดงต่อไปนี้
  • ไข้ (อุณหภูมิกายมากกว่า 38 ? C) ร่วมกับ
  • อาการอย่างใดอย่างหนึ่งอันได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อ, ไอ, หายใจผิดปกติ (หอบ, ลำบาก), แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นปอดบวม ร่วมกับ
  • ประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วย/ตาย โดยตรงในระยะ 7 วันที่ผ่านมา หรือมีการตายของสัตว์ปีกอย่างผิดปกติในพื้นที่ซึ่งอาศัยอยู่ เช่น ในหมู่บ้าน ในตำบล หรือตำบลใกล้เคียง
5.2 ผู้ป่วยที่น่าจะเป็น (Probable) ได้แก่ ผู้ป่วยที่สงสัยตามนิยามข้างต้นร่วมกับการตรวจดังต่อไปนี้
  • ความผิดปกติของปอดที่ชัดเจนและมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่เลวลง แม้จะให้การรักษาด้วยยาปฎิชีวนะ (Broad Spectrum Antibiotics) ร่วมกับ
  • ได้ทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบการติดเชื้ออื่นที่จะอธิบายอาการป่วยได้
5.3 ผู้ป่วยที่ยืนยัน (Confirm) ได้แก่ ผู้ป่วยที่น่าจะเป็นและมีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติต่อไปนี้สนับสนุน
  • เพาะเชื้อพบ Influenza A ที่ไม่ใช่ H1 หรือ H2 หรือ H3
  • ตรวจ PCR ด้วยห้องปฏิบัติการมาตรฐานยืนยันว่าเป็น Influenza A ที่ไม่ใช่ H1 หรือ H2 หรือ H3
6. การรักษาโรคในคน

เหมือนกับการรักษาไข้หวัดใหญ่ทั่วไป คือ ใช้ยา Amantadine Hydrochloride หรือยา Rimantadine Hydrochloride ภายใน 48 ชั่วโมง นาน 3-5 วัน จะช่วยลดอาการและจำนวนเชื้อไวรัสชนิด A ในสารคัดหลั่งที่ทางเดินหายใจได้ ขนาดยาที่ใช้ ในเด็กอายุ 1-9 ปี ให้ขนาด 5 มก./กก./วัน แบ่งให้ 2 ครั้ง นาน 2-5 วัน ผู้ป่วยสูงอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่การทำงานของตับหรือไตผิดปกติ ต้องลดขนาดยาลง

7. แนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก 
7.1 ผู้บริโภคไก่และผลิตภัณฑ์จากไก่
  • เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจและโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร การบริโภคเนื้อสัตว์ รวมทั้งเนื้อไก่และไข่ไก่ โดยทั่วไปจึงควรรับประทานเนื้อที่ปรุงให้สุกเท่านั้น เนื่องจากเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจปนเปื้อนมา ไม่ว่าจะเป็นไวรัส แบคทีเรีย หรือพยาธิ จะถูกทำลายไปด้วยความร้อน
  • เนื้อไก่และไข่ไก่ที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดในขณะนี้ ถือว่ามีความปลอดภัย สามารถบริโภคได้ตามปกติ แต่ต้องรับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุกเท่านั้น งดการประทานอาหารที่ปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ
  • เลือกรับประทานไข่ที่ปรุงสุกอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงที่มีปัญหาโรคระบาดในไก่
7.2 ผู้ประกอบอาหาร
ผู้ประกอบอาหารทั้งเพื่อการจำหน่ายและแม่บ้านที่เตรียมอาหารในครัวเรือน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคติดต่อจากอาหาร กระทรวงสาธารณสุขขอเน้นการป้องกัน ดังนี้
  • ควรเลือกซื้อเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์จากไก่จากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐาน หรือร้านค้าประจำ และเลือกซื้อไก่สดที่ไม่มีลักษณะบ่งชี้ว่าอาจตายด้วยโรคติดเชื้อ เช่น มีเนื้อมีสีคล้ำ มีจุดเลือดออก เป็นต้น สำหรับไข่ ควรเลือกฟองที่ดูสดใหม่และไม่มีมูลไก่ติดเปื้อนที่เปลือกไข่ ก่อนปรุงควรนำมาล้างให้สะอาด
  • ไม่ใช้มือที่เปื้อนมาจับต้องจมูก ตา และปาก และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจับต้องเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และเปลือกไข่ที่มีมูลสัตว์เปื้อน
  • ควรแยกเขียงสำหรับหั่นเนื้อไก่ และมีเขียงสำหรับหั่นอาหารที่ปรุงสุกแล้ว หรือผัก ผลไม้ โดยเฉพาะไม่ใช้เขียงเดียวกัน
7.3 ผู้ชำแหละไก่
ผู้ชำแหละไก่อาจมีความเสี่ยงจากการติดโรคจากสัตว์ จึงควรระมัดระวังขณะปฏิบัติงาน ดังนี้
  • ต้องไม่ซื้อไก่ที่มีอาการผิดปกติจากการติดเชื้อ เช่น ซึมหงอย ขนฟู หน้า หงอน หรือเหนียงบวมคล้ำ มีน้ำมูก หรือขี้ไหล เป็นต้น หรือไก่ที่ตายมาชำแหละขาย
  • ไม่ขังสัตว์ปีกจำพวก ไก่ เป็ด ห่าน ฯลฯ ที่รอชำแหละไว้ในกรงใกล้ ๆ กัน เพราะจะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เชื้อโรคกลายพันธุ์ จนอาจเกิดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่เป็นอันตรายทั้งต่อคนและสัตว์ได้
  • ควรทำความสะอาดกรงและอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ ด้วยน้ำผงซักฟอก และนำไปผึ่งกลางแดดจัด ๆ นอกจากนั้นอาจราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเดือนละ 1- 2 ครั้ง
  • หากสัตว์ที่ชำแหละมีลักษณะผิดปกติ เช่น มีจุดเลือดออก มีน้ำหรือเลือดคั่ง หรือจุดเนื้อตายสีขาวที่เครื่องใน หรือเนื้อมีสีผิดปกติ ต้องไม่นำไปจำหน่าย และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาตรวจสอบทันที่ เพราะอาจเป็นโรคระบาด
  • ต้องล้างบริเวณชำแหละสัตว์ให้สะอาดด้วยน้ำผงซักฟอก และควรราดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นการชำแหละไก่
  • ผู้ชำแหละไก่ควรดูแลระมัดระวังตนเองอย่างถูกต้อง โดยใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น พลาสติกหรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ แว่นตา รองเท้าบู๊ท และต้องหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
  • รีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด และต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังปฏิบัติงานเสร็จ ส่วนเสื้อผ้าชุดเดิม พลาสติกหรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ แว่นตา ควรนำไปซักหรือล้างให้สะอาด และผึ่งกลางแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้อีกครั้ง
7.4 ผู้ขนย้ายสัตว์ปีก

ผู้ขนย้ายสัตว์ปีกควรระมัดระวังตนเองไม่ให้ติดโรคจากสัตว์ และป้องกันการนำเชื้อจากฟาร์มหนึ่งไปยังแพร่ยังฟาร์มอื่น ๆ จึงควรเน้นการปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

  • งดซื้อสัตว์จากฟาร์มที่มีสัตว์ตายมากผิดปกติ
  • เมื่อขนส่งสัตว์เสร็จในแต่ละวัน ต้องรีบล้างทำความสะอาดรถให้สะอาดด้วยน้ำผงซักฟอก สำหรับกรงขังสัตว์ควรราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
  • ควรดูแลระมัดระวังตนเองอย่างถูกต้อง โดยใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ รองเท้าบู๊ท และต้องหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
  • รีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด และต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังปฏิบัติงานเสร็จ ส่วนเสื้อผ้าชุดเดิมและเครื่องป้องกันร่างกาย ควรนำไปซักหรือล้างให้สะอาด และผึ่งกลางแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้อีกครั้ง
7.5 เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่

เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ รวมทั้งผู้เลี้ยงสัตว์ และผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับสัตว์ในฟาร์มที่มีการะบาด เป็นกลุ่มประชาชนที่เสี่ยงต่อการติดโรคจากสัตว์ ดังนั้นจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์โดยเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

  • เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ ต้องป้องกันไม่ให้สัตว์อื่น ๆ รวมทั้งนกทุกชนิด และสัตว์พาหะนำโรค เช่น หนู เป็นต้น เข้ามาในโรงเรือน เพราะอาจนำเชื้อโรคเข้ามาแพร่ให้ไก่ได้ นอกจากนั้นจะต้องรักษาความสะอาดในโรงเรือนให้ดีอยู่เสมอ และหากมีไก่ป่วยหรือตายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที ต้องไม่นำไก่ป่วยหรือตายออกมาจำหน่าย และทำการกำจัดทิ้งตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด เช่น อาจฝังให้ลึกแล้วราดน้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือปูนขาว หรือนำไปเผา เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อมาสู่สัตว์หรือคน
  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์หรือผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับสัตว์ในฟาร์มที่มีการระบาด ไม่ว่าจากสาเหตุใด ควรดูแลระมัดระวังตนเองอย่างถูกต้อง โดยใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น พลาสติกหรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ แว่นตา รองเท้าบู๊ท และต้องหมั่นล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจับต้องสัตว์ป่วย หรือซากสัตว์ที่ตาย
  • รีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด และต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังปฏิบัติงานเสร็จ เสื้อผ้าชุดเดิม พลาสติกหรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ แว่นตา ควรนำไปซักหรือล้างให้สะอาด และผึ่งกลางแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้อีกครั้ง
7.6 การป้องกันโรคให้แก่เด็ก
  • เนื่องจากเด็กมักมีนิสัยชอบเล่นคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงรวมทั้งไก่และนก และหากติดเชื้อไข้หวัดนกมักป่วยรุนแรง ดังนั้นในช่วงที่มีโรคระบาดในสัตว์ปีก มีสัตว์ตายมากผิดปกติ พ่อ แม่ ผู้ปกครองควรระมัดระวังดูแลเด็กให้ใกล้ชิด และเตือนไม่ให้เด็กอุ้มไก่หรือนก จับต้องซากสัตว์ที่ตาย และต้องฝึกสุขนิสัยที่ดี โดยเฉพาะการล้างมือทุกครั้งหลังจับต้องสัตว์
  • หากเด็กมีอาการป่วย สงสัยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว โดยทั่วไปเมื่อได้รับการรักษาและดูแลอย่างถูกต้อง เด็กจะค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นภายใน 2 ถึง 7 วัน ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น มีอาการหอบ ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที
7.7 คำแนะนำทั่วไปในการรักษาสุขภาพและพฤติกรรมอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อ
  • ควรรักษาร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคได้ดี โดยการรับประทานอาหารให้ครบถ้วน รวมทั้งผักและผลไม้ งดบุหรี่และสุรา นอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และในช่วงอากาศเย็น ควรสวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น
  • หากมีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น เจ็บคอ ไอ เป็นต้น ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งแพทย์ด้วยว่าทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือมีประวัติสัมผัสซากสัตว์
7.8 ข้อแนะนำขั้นตอนการล้างตลาดอย่างถูกหลักสุขาภิบาลในช่วงการเกิดโรคระบาด
  • ในบริเวณที่มีการระบาดของโรคติดต่อ ควรล้างตลาดอย่างถูกหลักสุขาภิบาลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  • กวาดหยากไย่ หรือ เศษสิ่งสกปรกที่ติดบน ฝาผนัง โคมไฟ พัดลม
  • เจ้าของแผงทำความสะอาดแผง และร่องระบายน้ำเสีย กวาดเศษขยะไปรวมทิ้งไว้ในบริเวณพักขยะ หรือในที่ที่จัดไว้ รวมทั้งกำจัดแมลงและสัตว์นำโรคที่อาศัยอยู่ในบริเวณตลาดด้วย
  • บนแผงหรือพื้นที่ที่คราบไขมันจับ ใช้น้ำผสมโซดาไปราดลงบนพื้นหรือแผง ทิ้งไว้นาน 15-30 นาที และใช้แปรงลวดถูช่วยในการขจัดคราบไขมัน ส่วนบริเวณอื่นใช้ผงซักฟอกช่วยในการล้างทำความสะอาด (โซดาไฟ ใช้ชนิด 96% ในอัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1/2 ปีบ ในบริเวณที่ไขมันจับตัวหนา และ 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1/2 ปีบ ในบริเวณที่ไขมันน้อย)
  • ใช้น้ำสะอาดฉีดล้างบนแผง ทางเดิน ฝาผนังและกวาดล้างลงสู่ร่องระบายน้ำเสีย เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก โซดาไฟหรือผงซักฟอกให้หมด
  • ใช้น้ำผสมผงปูนคลอรีน (ใช้ผงปูนคลอรีน 60% ในอัตราส่วน 1 ช้อนชาต่อน้ำ 1 ปีบ) ใส่ลงในบัวรดน้ำ และรดบริเวณแผง ทางเดิน ร่องระบายน้ำเสียให้ทั่ว ปล่อยทิ้งไว้เพื่อให้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคและกำจัดกลิ่น ส่วนบริเวณที่มีกลิ่นคาวให้ใช้หัวน้ำส้มสายชูผสมน้ำให้เจือจาง แล้วราดบริเวณที่มีกลิ่นคาว โดยเฉพาะแผงขายสัตว์ปีก ควรฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนทุกวัน
  • บริเวณห้องน้ำ ห้องส้วม อ่างล้างมือ ที่ปัสสาวะ และก๊อกน้ำสาธารณะที่ใช้ในตลาด ต้องล้างทำความสะอาดโดยใช้ผงซักฟอกช่วยและล้างด้วยน้ำสะอาด
  • บริเวณที่พักขยะต้องเก็บรวบรวมขยะไปกำจัดให้หมด แล้วล้างทำความสะอาดและทำการฆ่าเชื้อ เช่นเดียวกับ