แฝดสยาม (Conjoined Twins) รายแรกของจังหวัดตาก


ข่าวใหญ่ในช่วงนี้ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ได้ออกข่าวแฝดสยามคู่แรกของจังหวัดตากและภาคเหนือ โดยในวันที่ 24 มิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา พญ.วิภา ศันติวิชยะ สูติแพทย์ รพ.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทำการผ่าตัดแฝดสยามคู่แรกของจังหวัดตากและรายแรกๆของภาคเหนือ เป็นทารกเพศชายทั้งคู่ น้ำหนักรวมกัน 4630 กรัม แข็งแรงสมบูรณ์ดี คะแนน APGAR score 5, 8, 10 ทารกทั้งสองมีการติดกันของอวัยวะตั้งแต่ช่วงหน้าอกถึงท้อง จากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบว่าทารกทั้งสอง มีหัวใจและตับเชื่อมติดกัน ทารกทั้งสองสามารถหายใจเองได้โดยการให้กล่องออกซิเจน (Oxygen block) จะมีอาการเขียวซึ่งเป็นอาการของการขาดออกซิเจนเล็กน้อยเมื่อเด็กดิ้นหรือร้องให้เนื่องจากต้องใช้หัวใจและตับร่วมกัน สำหรับพ่อแม่ของเด็กทั้งสองคือนายศิวกร ภูกันหา อายุ 31 ปี และนางอนัสรา ภูกันหา อายุ 29 ปี อยู่บ้านเลขที่ 131 ม. 9 บ.เด่นไม้ซุง ต.แม่สลิด อ.บ้านตาก จ.ตาก

ผศ. (พิเศษ) นพ.ศุภชัย นาทองไชย ผู้อำนวยการศูนย์แพทย์ศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กล่าวว่า ด.ช.อธิป และ ด.ช.อธิน แฝดสยามรายนี้แรกเกิดมีน้ำหนัก 4,630 กรัม ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและอยู่ในตู้อบ เพื่อควบคุมอุณหภูมิร่างกายและยังมีปัญหาระบบหายใจ เนื่องจากเด็กทั้งสองใช้หัวใจ และตับ ร่วมกัน และยังพบว่ามีสายสะดือเดียวกัน แสดงให้เห็นว่า เป็นเส้นเลือดที่มาจากหัวใจเดียวกัน ไม่เหมือนแฝดปกติทั่วไป มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากเพียง 1 ต่อ 50,000 – 80,000 รายเท่านั้น
ฝาแฝดติดกัน (Conjoined twins) คือ แฝดผู้มีร่างกายติดกันมาแต่กำเนิด เกิดขึ้นเมื่อ ไซโกท พยายามแบ่งตัวเป็นแฝด แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ฝาแฝดติดกัน มีโอกาสในการเกิดจาก 1 ต่อ 50,000 ถึง 1 ต่อ 200,000 คน ซึ่งฝาแฝดตัวติดกันมีโอกาสมีชีวิตรอดน้อยมาก โดยประมาณร้อยละ 5 ถึง 25 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง (ประมาณร้อยละ 70 – 75)

แฝดสยามยังแบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ 1.อวัยวะเชื่อมติดกันบริเวณส่วนกลางร่างกาย คือ อกและท้อง 2.อวัยวะเชื่อมติดกันบริเวณเชิงกราน 3.อวัยวะเชื่อมต่อด้วยส่วนล่างของร่างกาย เช่น ก้นกบ สะโพก และ 4.อวัยวะเชื่อมติดกันบริเวณส่วนบนของร่างกาย เช่น ศีรษะ โดยแฝดชนิดที่ 1 พบมากที่สุด ส่วนชนิดที่ 4 พบน้อยที่สุด และแฝดชนิดที่ 2 และ 4 ผ่าตัดยากที่สุด

ฝาแฝดตัวติดกัน ที่มีชื่อเสียงรู้จักที่สุด คือ อิน และ จัน บุนเกอร์ ฝาแฝดชาวจีน ที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งได้เดินทางไปแสดงโชว์ที่ บอสตัน, สหรัฐอเมริกา เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “แฝดสยาม” (Siamese Twins) โดยมีที่มาจากฝาแฝดไทยผู้เกิดในสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งมีชื่อว่าอินและจัน
ฝาแฝดอิน – จัน เป็นฝาแฝดคนไทยที่ตัวติดกันคู่แรก ที่ชาวโลกรู้จักเกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2354 ที่บ้านริมน้ำปากคลองแม่กลอง ต. แหลมใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม บิดาชื่อ นายทีอาย เป็นชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ มารดาชื่อ นางนก มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันรวม 9 คน

แรกเกิด อิน-จัน จะมีร่างกายสมประกอบทุกอย่าง แต่ที่หน้าอกจะติดกัน มีสะดือเดียว ตอนแรกเกิดร่างทั้งสองสลับหัวกัน มารดาของเขาจึงจับหมุนให้หันหัวเท้าอยู่ในทิศทางเดียวกัน อินจะเป็นคนค่อนข้างเงียบ ใจเย็น เจ้าความคิด ส่วนจันใจร้อน เจ้าอารมณ์ ฉุนเฉียว ในวัยเด็กอายุได้ 8 ขวบ พ่อของอินจันเสียชีวิต อิน-จันจึงต้องมีหน้าที่ช่วยงานแม่ เลี้ยงเป็ดขายไข่

ปี พ.ศ. 2372 อิน-จัน มีอายุได้ประมาณ 18 ปี กัปตันคอฟฟิน และนายโรเบิร์ต ฮันเดอร์ เจ้าของเมืองมหรสพ เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ได้ขอตัวแฝดอิน-จัน จากแม่ของเขาเพื่อนำไปแสดงโชว์ที่ โรงมหรสพของเขา โดยอ้างกับมารดาของอิน-จันว่า เพื่อแนะนำให้ชาวโลกได้รู้จัก ซึ่งแม่ของแฝดอิน-จันตกลงและได้รับเงินจำนวน 1,600 บาท เป็นค่าตอบแทน แฝดอิน-จัน ถูกนำไปเปิดการแสดงโชว์ตัวตามประเทศต่าง ๆ ซึ่งทำรายได้ให้แก่กัปตันคอฟฟิน และนายโรเบิร์ต ฮันเดอร์ เป็นอย่างมากเมื่อแฝดอิน-จัน ไปแสดงที่ใดก็จะได้รับความสนใจอย่างมาก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2375 เขาทั้งสองได้แยกตัวออกจากคณะมหรสพโดยเปิดการแสดงอย่างอิสระ ทำให้รายได้เพิ่มมากขึ้นจนมีฐานะร่ำรวย สามารถซื้อที่ดินทำนาทำไร่ ปลูกบ้านเป็นของตัวเองบนเนื้อที่ 150 เอเคอร์ ที่เมืองแทรปอินส์ และเขาได้ใช้นามสกุลว่า บังเกอร์ ของเฟรดและวิลเลี่ยม บังเกอร์ ซึ่งทั้งสองได้ให้ความนับถือ ต่อมาเขาได้หยุดการแสดงโชว์ และหันไปทำไร่ยาสูบจนประสบความสำเร็จ มีฐานะร่ำรวยขึ้น อายุได้ 31 ปี อิน-จัน ได้พบรักและ แต่งงานกับสองสาวคือ อิน บังเกอร์ กับมิสซาร่าเยสท์ อายุ 20 ปี ส่วนจัน บังเกอร์ กับมิสอาดิเลดเยสท์ อายุ 19 ปี โดยทั้งสองคู่ได้ทำพิธีแต่งงานที่โบสถ์เมธอดิสท์ ในวันที่ 13 เมษายน 2386 หลังจากแต่งงานทั้งคู่ได้มีบุตรคนแรกในเวลาไล่เลี่ยกัน อินมีบุตรสาวคนแรกคือ แคธเธอรีน เกิดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2387 จันก็มีบุตรสาวคนแรกคือ โจเซฟฟิน เกิดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2387 ในปี 2387 อิน-จัน สร้างบ้านให้ภรรยาแยกกันอยู่คนละหลัง ห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร และต้องผลัดไปอยู่บ้านแต่ละคน คราวละ 3 วัน ทั้งคู่มีลูกชาย – หญิง รวมกัน 21 คน

ปีพ.ศ. 2414 อิน-จัน มีอายุได้ 60 ปี จึงหยุดการแสดงโชว์ อินและจันเกิดป่วยเป็นอัมพาตซีกขวา อินทั้งดื่มสุราจัดด้วย จึงทำให้สุขภาพของจันเสื่อมโทรมลงไปด้วย แพทย์ตรวจพบว่าจันป่วยเป็นโรคหลอดลมอักเสบ มีอาการรุนแรงและทรุดลงเรื่อย ๆ แต่เพราะข้อตกลงที่ทั้งสองมีต่อกัน ในการที่จะต้องไปอยู่บ้านภรรยาของแต่ละฝ่าย 3 วัน อิน-จัน นั่งรถม้าไม่มีประทุน เดินทางไปในขณะที่อากาศหนาวเย็นมาก จนทำให้จันมีอาการปอดบวมและเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา ในวันที่ 17 มกราคม 2414 และอีก 2 ชั่วโมง ต่อมาอินก็เสียชีวิตตามจันไป

ส่วนอิน-จันนั้นถือกำเนิดใน ค.ศ. 1811 (พ.ศ.2354) ทั้งสองเคยคิดที่จะผ่าตัดแยกร่างจากกันหลายครั้ง แต่แพทย์เกรงว่าจะเป็นอันตรายจึงไม่ยอมทำให้ ศัลยแพทย์ที่กรุงลอนดอนเคยทดลองรัดท่อนเนื้อที่เชื่อมส่วนอกของทั้งคู่จนแน่น เพื่อป้องกันการไหลเวียนของโลหิต ปรากฏว่าเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น แฝดคนหนึ่งถึงกับเป็นลมหมดสติ ส่วนอีกคนก็ทำท่าจะเป็นแบบเดียวกัน ซึ่งนั่นก็แสดงว่าถ้ามีการผ่าตัดอาจทำให้คนใดคนหนึ่งหรือทั้งคู่ถึงแก่ชีวิตอย่างแน่นอน

อิน-จัน นั้นมีความรู้สึกทางกายเชื่อมโยงกันอยู่หลายอย่าง เช่น ถ้าทั้งคู่นอนหลับแล้วเราปลุกคนหนึ่ง อีกคนก็จะตื่นด้วย เพราะความรู้สึกถ่ายทอดถึงกัน แต่ไม่ใช่ความรู้สึกเดียวกัน ถ้าจักจี้ให้คนหนึ่งหัวเราะ อีกคนจะรู้สึกว่าแฝดของตนโดนจักจี้ แต่ไม่ได้รู้สึกจักจี้จนต้องหัวเราะ ที่น่าแปลกก็คือ ถ้าคนหนึ่งกินเหล้าอีกคนกลับไม่เมา ทั้งๆที่มีเส้นเลือดเชื่อมโยงกันอยู่ ส่วนเรื่องจิตใจนั้นยิ่งแตกต่าง อิน-จันชอบอะไรไม่เหมือนกัน เช่น จันชอบอาหารรสจัดและติดเหล้า ส่วนอินเป็นมังสวิรัติ ไม่ดื่มเหล้า แต่ติดไพ่ ถ้าคนหนึ่งฝันร้าย อีกคนก็อาจจะไม่ฝันอะไรเลย

อินและจันเสียชีวิตตอนอายุ 63 จันจากไปก่อนด้วยอาการหัวใจวาย อินบอกว่า อีกเดี๋ยว ฉันก็จะไปด้วย แล้วอีกสองชั่วโมงครึ่งอินก็เป็นเช่นนั้น

ในปี 1874 หลังจากอิน-จันเสียชีวิตเพียงปีเดียว ที่อิตาลีก็มีแฝดสยามถือกำเนิดมาอีกคู่หนึ่ง จิโอวานนี่ และจิอาโคโม่ ทอซคี่ มีตัวติดกันตั้งแต่ซี่โครงซี่ที่ 6 ลงมา มีขาแค่คู่เดียว มีหัวใจ กระเพาะ และปอดที่แยกกัน แม้จะมีอวัยวะร่วมกันมากขนาดนี้ แต่การควบคุมจากสมองก็ยังทำงานแยกจากกันโดยสิ้นเชิง ขนาดที่ว่าขณะที่คนหนึ่งกินข้าวอีกคนก็นอนหลับได้ ผลจากการที่สมองแยกกันทำให้พี่น้องทอซคี่เดินไม่สะดวก เพราะแต่ละคนควบคุมขาได้แค่คนละข้าง

แมรี่ และอีไลซ่า ชัคเฮิร์ส ซึ่งเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1100 ที่เมืองเคนท์ ประเทศอังกฤษ ทั้งคู่มีส่วนสะโพกและหัวไหล่ติดกัน เมื่ออายุได้ 34 ปี คนหนึ่งเสียชีวิต ชั่วโมงต่อมาอีกคนก็สิ้นใจ
สองสาวฮังกาเรียน เฮเลน และ จูดิธ เกิดเมื่อ ค.ศ. 1701 โดยมีส่วนก้นเชื่อมติดกัน ในช่วงวัยรุ่นทั้งคู่ทุ่มเทให้กับการเล่นดนตรี และได้เปิดการแสดงไปทั่วยุโรป ในบั้นปลายชีวิตทั้งสองได้ตัดสินใจบวชเป็นชี จูดิธนั้นเสียชีวิตไปก่อน ส่วนเฮเลนก็ตายตามไปในอีก 2-3 ชั่วโมงต่อมา

แฝดสยามที่มีชีวิตอยู่ร่วมกันนานที่สุดเป็นคนจีน คือ ลิว เซ็ง เซ็น และลิว ทัง เซ็น ทั้งคู่ ได้เข้าร่วมคณะละครสัตว์และทัวร์แสดงในหลายประเทศทั่วโลก แฝดสองคนนี้จะหลับพร้อมกันเสมอ และถ้าคนใดคนหนึ่งดวดเหล้าเข้าไปอีกคนก็จะเมาแอ๋ตามไปด้วย โดยไม่ต้องลิ้มรสเลยสักหยด ทั้งสองจากไปด้วยวัย 71
แค่เมาตามกันยังนับว่าธรรมดา เมื่อเทียบกับแฝดสยามที่ต้องติดคุกติดตะรางตามกันไปโดยไม่มี ความผิดอย่างแฝดชาวฟิลิปปินส์ ซิมปริซิโอ กับลูซิโอ กัวดิน่า มีอยู่วันหนึ่งลูซิโอขับรถชนคนได้รับบาดเจ็บ จึงต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 5 วัน แต่เขาก็โชคดีที่ไม่ต้องเหงาอยู่ในตะรางคนเดียว เพราะมีซิมปริซิโอผู้บริสุทธิ์เคราะห์ร้ายติดเป็นเพื่อน

ความพยายามในการผ่าตัดแยกแฝดสยามออกจากกันนั้นมีมาตลอด เมื่อการแพทย์เจริญขึ้น ความสำเร็จก็มากขึ้น เว้นแต่ในรายที่มีอวัยวะสำคัญติดกัน คู่แฝดสยามที่ทั่วโลกจับตามองและลุ้นให้ทั้งสองผ่าตัดแยกกันสำเร็จ ก็คือ ลาเด็น และลาเล่ห์ ไบจานี นักกฎหมายชาวอิหร่าน ที่มีส่วนสมองเชื่อมติดกัน การผ่าตัดมาราธอนครั้งนี้ ระดมแพทย์มาถึง 28 คน กับผู้ช่วยอีก 100 คน ใช้เวลาผ่าตัดนานถึง 53 ชั่วโมง แต่ในที่สุดทั้งคู่ก็ไม่รอด ลาเด็นเสียชีวิตไปก่อน ลาเล่ห์สิ้นลมตามไปในอีก 90 นาทีต่อมา ด้วยวัยเพียง 29 ปี
การผ่าตัดที่สำเร็จได้ด้วยดีทั้งๆที่ยากแสนยากก็มีเหมือนกัน เมื่อเดือนธันวาปีที่แล้ว ศัลยแพทย์ อับดุลเลาะห์ อัลรอบีอะห์ แห่งซาอุดีอาระเบีย ผ่าตัดแยกซาราห์-ฟาติมาห์ ไฮดาร์ หนูน้อยชาวอิรักวัย 11 เดือน ซึ่งมีตับ ลำไส้ใหญ่ ระบบขับถ่ายและระบบสืบพันธุ์ร่วมกัน อีกทั้งยังมีหน้าอก ช่องท้อง และกระดูกเชิงกรานติดกันได้สำเร็จ

แม้ว่าการผ่าตัดอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่แฝดสยามบางคู่อย่างมาช่า-ดาช่า กริโวโยโปว่า กลับยืนกรานที่จะอยู่ด้วยกันจนวันสุดท้าย หมอหลายต่อหลายคนได้เสนอให้ผ่าตัด แต่ทั้งคู่ก็ปฏิเสธ จนเมื่อปี 2003 ดาช่าเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลว แต่มาช่าก็ยังคงปฏิเสธที่จะผ่าแยก 17 ชั่วโมงต่อมาเธอจึงกินยาตาย

ความรักความผูกพันของแฝดสยามนั้นช่างยิ่งใหญ่เหนือคำบรรยาย หากคนหนึ่งตายไป คนที่เหลือจะเป็นอย่างไร ความตายจะทำให้สายใยสัมพันธ์แห่งจิตวิญญาณของทั้งสองสูญสิ้นไปหรือไม่ อย่างเช่นคู่ของนาเดีย และจูราซี่ ตอนอายุ 17 นาเดียป่วยหนักอาการโคม่า พ่อบุญธรรมของทั้งสองขอร้องให้ผ่าตัดแยก แต่จูราซี่ไม่ยอมแม้ว่าจะต้องตายก็ตามที เมื่อนาเดียเสียชีวิต จูราซี่รู้ดีว่าเวลาของเธอมาถึงแล้ว เธอยิ้มรับความตายโดยไม่หวาดหวั่น เพียง 10 นาทีเท่านั้น เธอก็ตามนาเดียไป

ความสำเร็จในการผ่าแยกในประเทศไทย

แฝดสยามในประเทศไทยที่เข้ารับการผ่าตัดแยกร่าง ตั้งแต่ปี 2496-2525 มีแฝดสยามที่เข้ารับการผ่าตัดแยกร่างในประเทศไทย 10 ราย และส่งไปผ่าตัดแยกร่างในต่างประเทศอีก 1 ราย สถิติการผ่าตัดจากสถาบันเด็กสุขภาพเด็กฯ ตั้งแต่ปี 2499-2542 มี 11 คู่ ซึ่งรอดชีวิตทั้งคู่ 6 ราย รอดชีวิตเพียงคนเดียว 4 ราย และเสียชีวิตทั้งคู่อีก 1 ราย นอกจากนี้ ยังมีเคสผ่าตัดแฝดสยามตามโรงเรียนแพทย์ต่างๆ รวมกันไม่ต่ำว่า 10 ราย

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 คณะแพทยศาสตร์ศิริราช ได้ทำการผ่าตัดแฝดสยาม ปานตะวัน-ปานวาด วัย 8 เดือน เป็นผลสำเร็จ โดยสามารถแยกทั้งร่างกาย หัว ใจ ตับ ไต ด้วยความปลอดภัย สำเร็จครั้งแรกของโลก